อาลัย “เริงชัย ประภาษานนท์” ศิลปินแห่งชาติ ผู้แจ้งเกิดอินทรีแดง เสียชีวิตในวัย 94 ปี

วันนี้ 7 ก.พ.2567 นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เปิดเผยว่า นายเริงชัย ประภาษานนท์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช 2562 ได้ถึงแก่กรรมอย่างสงบ เมื่อวันจันทร์ที่ 5 ก.พ.2567 ณ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี สิริอายุ 94 ปี

โดยทางครอบครัวแจ้งว่าจะมีกำหนดรดน้ำศพ ในวันที่ 7 ก.พ.2567 เวลา 16.00 น. และกำหนดสวดพระอภิธรรมศพ วันที่ 7 , 8 ก.พ. เวลา 18.00 น. วันที่ 9 ก.พ. เวลา 19.00 น. ณ วัดศิริพงษ์ธรรมนิมิต ศาลา 2 ซอย วัชรพล ถนนรามอินทรา แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร และกำหนดการพิธีฌาปนกิจ ในวันที่ 10 ก.พ.2567 เวลา 14.00 น.

สำหรับนายเริงชัย ประภาษานนท์ เกิดเมื่อวันที่ 10 พ.ย.2472 ที่ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ขณะศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนนันทนศึกษา เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2พ.ศ.2487 โรงเรียนปิดลง เริงชัยออกมาทำงานที่โรงไฟฟ้าสามเสน เมื่อโรงไฟฟ้าถูกระเบิดทำลาย ได้งานทำใหม่เป็นช่างเรียงพิมพ์ และเริ่มเขียนเรื่องสั้นเรื่องแรกชื่อ "พรหมบันดาล" ตีพิมพ์ในนิตยสาร"รัตนโกสินทร์" ใช้นามปากกา "สุริยา" ต่อมาเริงชัย เริ่มเขียนนวนิยายแนวบู๊ ใช้นามปากกา "เศก ดุสิต" เรื่อง สี่คิงส์ และครุฑดำ ตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์อักษรสมิต

ตามมาด้วยเรื่องในชุด “อินทรีแดง” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์บรรลือสาส์น มีชื่อเสียงเป็นที่นิยม จนต้องนำตัวละครจากทั้ง 2 เรื่อง คือ “คมน์ พยัคฆ์ราช” และ “โรม ฤทธิไกร” มามีบทบาทร่วมกันในเรื่อง “จ้าวนักเลง”

ต่อมาเรื่อง “พยัคฆ์ร้ายไทยถีบ” ตีพิมพ์ในนิตยสารอาทิตย์รายสัปดาห์ของสำนักพิมพ์อักษรโสภณ เริงชัยใช้นามปากกา เศก ดุสิต, เกศ โกญจนาศ, ศิรษา, ดุสิตา, สุริยา และลุงเฉื่อย ในสมัยสื่อสิ่งพิมพ์ เฟื่องฟู ผลงานของเริงชัยเป็นที่ต้องการของหนังสือต่างๆ ในสัปดาห์หนึ่งจึงต้องเขียนนวนิยายส่งนิตยสารถึง 5 เล่ม ผลงานมีทั้งหมดกว่า 50 เล่ม ส่วนใหญ่ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์

เริงชัย ประภาษานนท์ ได้รับรางวัลนราธิป จากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย พ.ศ.2552และได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2562

Cr. กรมส่งเสริมวัฒนธรรม #เริงชัยประภาษานนท์ #ศิลปินแห่งชาติ #นักเขียนตำนานอินทรีแดง #siamdara