กลายเป็นที่ฮือฮาเมื่อ 2 ค่ายธุรกิจสื่อบันเทิง Grammy – RS เริ่มต้นจากธุรกิจเพลงในเวลาใกล้เคียงกัน โดย RS ของ “เฮียฮ้อ สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์” เข้าสู่ธุรกิจเพลงในปี 2525 ภายใต้ อาร์.เอส.ซาวด์ ส่วน “อากู๋ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม” ก่อตั้งค่ายเพลงแกรมมี่ ในปี 2526 ทั้ง 2 อยู่คู่กันมาตลอด 4 ทศวรรษ เตรียมดันธุรกิจเข้าตลาดหลักทรัพย์ โดยก่อนหน้านี้เมื่อช่วงเดือน เมษายน 2566 “เฮียฮ้อ สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าเตรียมพา RS Music (อาร์เอส มิวสิค) เป็นธุรกิจแรกในเครือ เข้าตลาดฯ ในปี 2567 ต่อมาเมื่อช่วงเดือน กรกฎาคม 2566 ได้มีการเผยว่า “อากู๋ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เตรียมพา GMM Music (แกรมมี่ มิวสิค) เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ในอนาคตเช่นกัน โดยมีเปิดเผยว่า การเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ของ GMM Music เป็นการนำหุ้นไม่เกิน 30% ของทุนชำระทั้งหมดของ GMM Music ทำ IPO ขายให้กับประชนทั่วไปในอนาคตหลังได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. หรือสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เหตุผลที่ GMM Music ขายหุ้น IPO เพียง 30% ของทุนชำระทั้งหมด ด้วยเหตุผลคือ บมจ. จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ยังคงต้องการเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่และมีอำนาจควบคุมใน GMM Music ในฐานะบริษัทย่อย ที่ผ่านมา GMM Music เคยเป็นหนึ่งหน่วยงานใน บมจ. จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ดำเนินธุรกิจเพลงครบวงจร ตั้งแต่การคัดเลือกศิลปิน การผลิต ผลงานเพลง การทําการตลาด การบริหารและจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลง การจัดจําหน่ายสินค้าเพลงทั้งรูปแบบ Digital และ Physical รวมถึงการเป็นผู้จัดคอนเสิร์ต และเฟสติวัล ตลอดจนเป็นผู้ดําเนินการบริหารศิลปิน และเพิ่งจัดตั้งเป็น บจ. จีเอ็มเอ็ม มิวสิค ในวันที่ 7เมษายน 2566 ที่ผ่านมา ด้วยทุนจดทะเบียน 4,000,000 บาท แบ่งเป็น 400,000 หุ้น หุ้นละ 10 บาท และทุนชำระแล้ว : 1,000,000 บาท แบ่งเป็น 400,000 หุ้น หุ้นละ 2.50 บาท สำหรับ GMM Music ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจเริ่มต้นของ บมจ. จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จากการเปิดตัวศิลปิน แพทย์หญิง พันทิวา สินรัชตานันท์ ในอัลบัม นิยายรักจากก้อนเมฆ และผลิตรายการทีวี 3 รายการ ได้แก่ ยิ้มใส่ไข่, มันกว่าแห้ว, เสียงติดดาว ในปี 2526 ก่อนที่จะสร้างปรากฏการณ์ความสำเร็จจากอัลบัม เต๋อ 1 ของเรวัต พุทธินันทน์ ในปี 2527 สร้างศิลปินค้างฟ้าอย่าง ธงไชย แมคอินไตย์ กับอัลบัมแรก หาดทราย สายลม สองเรา ในปี 2529 และขยายชื่อเสียงความสำเร็จจากศิลปินต่าง ๆ ที่สร้างสรรค์งานเพลงให้กับวงการเพลงจนถึงปัจจุบัน เมื่อมองไปที่รายได้ของ GMM Music ในช่วงเวลาที่ยังเป็นหน่วยงานหนึ่งของ บมจ. จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ในปี 2565 มีรายได้ 3,043 ล้านบาท และคาดการณ์รายได้ปี 2566 ที่ 3,800 ล้านบาท เติบโต 25% อ้างอิงจากงานแถลงข่าวทิศทาง GMM Music เดือนมีนาคม 2666 GMM Music มีรายได้หลักมาจาก 5 กลุ่มธุรกิจ ประกอบด้วย กลุ่มธุรกิจ Digital ปี 2565 รายได้ 1,089 ล้านบาท ปี 2566 คาดการณ์รายได้ 1,200 ล้านบาท เติบโต 10% กลุ่ม Artist Management ปี 2565 รายได้ 742 ล้านบาท ปี 2566 คาดการณ์รายได้ 1,050 ล้านบาท เติบโต 42% กลุ่ม Showbiz ปี 2565 รายได้ 542 ล้านบาท ปี 2566 คาดการณ์รายได้ 898 ล้านบาท เติบโต 66% กลุ่ม Right Management ปี 2565 รายได้ 236 ล้านบาท ปี 2566 คาดการณ์รายได้ 300 ล้านบาท เติบโต 27% กลุ่ม Physical ปี 2565 รายได้ 145 ล้านบาท ปี 2566 คาดการณ์รายได้ 200 ล้านบาท เติบโต 38% ส่วน GMM Music จะพาตัวเองทำ IPO ได้เมื่อไร คงต้องรอดูกันต่อไป Cr. ที่มา : marketeeronline